EEC กับบทบาทในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ แห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
1 / 1
เชื่อว่าในช่วง 4-5 ปีมานี้ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ ‘โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)’ ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง โดยโครงการ EEC เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2560 จากการต่อยอดโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว . จากทำเลที่ตั้งที่เรียกได้ว่าอยู่ใจกลางของทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่มีจำนวนประชากรมากกว่าครึ่งโลก ทำให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค เป็นที่มาของแผนการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างมูลค่าการลงทุน รวมถึงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ โดยมีโครงการหลัก 4 โครงการ ได้แก่ . รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างเดิมของรถไฟฟ้า Airport Link โดยสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท - สนามบินดอนเมือง และสถานีลาดกระบัง - สนามบินอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กม. มีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ ชั่วโมง ซึ่งจะเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับ EEC ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที . สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศ โดยคาดว่าเมื่อรวมกับสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิแล้ว จะสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากกว่า 200 ล้านคนต่อปี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว Logistics & Aviation และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและประตูเศรษฐกิจของเอเชีย . ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึก พัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นให้เพียงพอและพร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ . ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี . การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ตั้งฐานการผลิตอยู่ในพื้นที่ EEC รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง สามารถลดเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้า ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้มากขึ้นในอนาคต . References https://www.eeco.or.th/th